“คุณพิสูจน์ไม่ได้ว่าพระเจ้ามีจริง และคุณพิสูจน์ไม่ได้ว่าพระเจ้าไม่มีจริง” นี่เป็นคำตอบที่คนเรามักได้ยินเวลามีคนหยิบยกคำถามขึ้นมาว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่
มันเป็นความจริงในแง่ที่ไม่ค่อยเป็นสาระ แต่ค่อนข้างจะชักนำให้เข้าใจผิดในแง่ที่สำคัญมากต่อชีวิตเรา ถ้า เราใช้คำว่า “พิสูจน์” ในความหมายที่เคร่งครัด คือต้องพิสูจน์จนได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ ก็เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อโต้แย้งดี ๆ ที่ยืนยันว่ามีพระเจ้า ซึ่งทำให้การเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมาก มีเรื่องต่าง ๆ น้อยมากที่เราสามารถพิสูจน์จนได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ตามหลักคณิตศาสตร์ ดังนั้นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์จึงไม่ใช่มาตรฐานที่สมเหตุสมผลหรือจำเป็น และเช่นเดียวกับความรู้ต่าง ๆ แทบทุกเรื่องที่เรามี ผมคิดว่าเราสามารถแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ๆ ที่พระเจ้าจะมีจริง
นอกจากนั้นเรื่องสำคัญที่เราพึงสังเกตก็คือ การมีคำอธิบายเกี่ยวกับทางเลือกที่เป็นไปได้ ก็ไม่ได้ทำให้เราชนะในการโต้แย้งเรื่องนี้ สิ่งที่คนเราต้องการก็คือคำอธิบายทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนมากเชื่อว่าโลกกลม แต่ก็ยังมีคนส่วนน้อยที่เชื่อว่าโลกแบน “คนที่เชื่อว่าโลกกลม” ควรทิ้งทฤษฎีของตนเพียงเพราะ “คนที่เชื่อว่าโลกแบน” มีอีกหนึ่งทฤษฎีให้เลือกหรือเปล่า? แน่นอน ไม่ใช่ เราจะสมควรทำเช่นนั้นก็ต่อเมื่อคนที่เชื่อว่าโลกแบนสามารถให้หลักฐานที่ เหนือกว่า ซึ่งพิสูจน์ว่าทฤษฎีของเขามีความเป็นไปได้มากกว่า และไม่ดูเหมือนความคิดที่สุดโต่ง
ข้อโต้แย้งที่ดีซึ่งยืนยันว่าพระเจ้ามีจริงนั้นมีมากมาย อัลวิน แพลนทิงกา ซึ่งอาจจะเป็นนักปรัชญาที่ปราดเปรื่องที่สุดที่มีชีวิตอยู่ เพิ่งนำเสนอรายงานเมื่อไม่นานมานี้ รายงานของเรากล่าวถึงเหตุผลยี่สิบสี่ข้อหรือราว ๆ นั้นที่ยืนยันว่าพระเจ้ามีจริง แต่เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด ผมจึงนำเสนอได้เพียงสองข้อ
เหตุผลที่
1: พระเจ้าคือคำอธิบายที่ดีที่สุดในเรื่องกำเนิดของจักรวาล
ข้อมูล
1) สิ่งใด ๆ ก็ตามที่มีจุดเริ่มต้นย่อมต้องมีต้นเหตุ
ข้อมูล
2) จักรวาลมีจุดเริ่มต้น
ข้อสรุ
ป: ดังนั้นจักรวาลย่อมต้องมีต้นเหตุ
สิ่งใด ๆ ก็ตามที่มีจุดเริ่มต้นย่อมต้องมีต้นเหตุ พวกเราส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาที่จะยอมรับหลักการข้อนี้ เราเชื่อว่ามันเป็นความจริงแทบจะในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ของเรายืนยันหลักการข้อนี้อยู่เสมอ และไม่เคยปฏิเสธมัน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ นักปรัชญายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นความจริงชนิดไร้ข้อกังขา
ถึงกระนั้น หลักการแรกของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็มักจะกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดมาจากความว่างเปล่า” แม้กระทั่งเดวิด ฮูม นักปรัชญาที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่สามารถพิสูจน์จนได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ว่า หลักการเชิงเหตุและผลนี้เป็นความจริง แต่เขาก็ยังเชื่อว่ามันเป็นความจริง และแน่ใจว่ามันเป็นเช่นนั้น
แน่นอน การที่เราเชื่อถือข้อมูลนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลกว่าที่เราจะเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากความว่างเปล่า และโดยความว่างเปล่า
หลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์
ประการที่สอง เรามีทั้งหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์และข้อโต้แย้งทางตรรกศาสตร์ ในเรื่องที่ว่าจักรวาลมีจุดเริ่มต้น ถ้าว่ากันตามมาตรฐานของทฤษฎีบิ๊กแบง อวกาศ เวลา สสาร และพลังงาน ล้วนเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเมื่อราว ๆ 15,000 ล้านปีที่แล้ว
นอกจากนั้น กฎเทอร์โมไดนามิคส์ข้อที่สองยังกล่าวไว้ว่า ถ้ากาลเวลาผ่านไปนานพอ ในที่สุดจักรวาลก็จะไปสู่จุดดุลยภาพ – คือหนาวเย็น มืด ตาย และไม่มีการเคลื่อนไหว เห็นได้ชัดว่าถ้าจักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้น ก็แปลว่าก่อนจะถึงช่วงเวลาปัจจุบัน จะต้องมีช่วงเวลายาวนานไม่รู้จบ และถ้าเป็นเช่นนั้น จักรวาลก็น่าจะถึงจุดดุลยภาพไปแล้ว และจักรวาลปัจจุบันก็น่าจะเป็นจักรวาลที่หนาวเย็น มืด ตาย และไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่น่าจะมีกาแล็กซี่ ระบบสุริยจักรวาล ดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ – สิ่งมีชีวิตยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่เนื่องจากปัจจุบันเราเห็นได้ชัดว่ามีความร้อน แสงสว่าง การเคลื่อนไหว และชีวิตมากมาย ก็แปลว่าเวลาในอดีตย่อมต้องมีจุดเริ่มต้น ซึ่งแปลว่าจักรวาลนี้มีจุดเริ่มต้น
เหตุผลสนับสนุนข้อที่สามซึ่งเป็นเหตุผลที่ยืนยันจุดเริ่มต้นของจักรวาล ได้อย่างหนักแน่นที่สุด มาจากความเป็นไปไม่ได้ที่จะมีช่วงเวลาในอดีตที่เป็นอนันต์ เพราะจำนวนอนันต์ที่แท้จริงของสิ่งใด ๆ ก็ตามไม่อาจมีได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
เราอาจคิดว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหานี่ ก็ในเมื่อเรายังใช้แนวคิดเรื่องตัวเลขอนันต์ในวิชาคณิตศาสตร์ได้เลย แต่นักคณิตศาสตร์ที่ทำงานกับแนวคิดเรื่องตัวเลขอนันต์นั้น เขาใช้หลักการนี้ด้วยการยอมรับกฎที่คลุมเครือบางอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความโง่เขลาและความขัดแย้งซึ่งมาพร้อมกับตัวเลข อนันต์ของสิ่งใด ๆ ก็ตาม และกฎเหล่านี้ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ ตัวเลขอนันต์ใช้ได้แต่ในโลกนามธรรม โดยต้องมีกฎเกณฑ์พิเศษบางอย่าง
ถ้าคุณอยากเห็นความโง่เขลาและความขัดแย้งของการที่สิ่งของในโลกแห่งความ เป็นจริงจะมีจำนวนอนันต์ ขอให้คุณลองนึกภาพห้องสมุดที่มีหนังสือสีดำเป็นจำนวนอนันต์ และหนังสือสีเขียวเป็นจำนวนอนันต์ วางสลับสีกันบนชั้น และเขียนหมายเลขบนสันต่อเนื่องกันไป
จะสมเหตุสมผลไหมถ้าเราจะบอกว่า ห้องสมุดนี้มีหนังสือสีดำมากเท่ากับหนังสือสีดำกับสีเขียวรวมกัน? ไม่ใช่แน่ แต่นั่นคือสิ่งที่คุณจะต้องพูด ถ้าคุณอยากบอกว่าจำนวนอนันต์มีความเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
สมมุติว่าเราเอาหนังสือสีเขียวทั้งหมดออกมา ห้องสมุดนี้จะเหลือหนังสือกี่เล่ม? ห้องสมุดนี้ก็จะยังคงมีหนังสือเป็นจำนวนอนันต์ ถึงแม้ว่าเราเพิ่งเอาหนังสือออกไปเป็นจำนวนอนันต์ และมีปัญญานำมันกลับไปบ้านได้ แต่สมมุติว่าเราดึงหนังสือหมายเลข 4,5,6… และต่อ ๆ ไปออกมา จะเหลือหนังสือกี่เล่ม? คำตอบกลับกลายเป็นสาม เรื่องนี้ต้องมีอะไรผิดแน่ ทีแรกเราลบหนังสือจำนวนอนันต์ แล้วเราก็ยังเหลือจำนวนอนันต์ คราวนี้เราลบจำนวนอนันต์อีกที แต่เรากลับเหลือสาม – มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนในทางตรรกะ เนื่องจากสมมุติฐานของเรานำไปสู่ข้อสรุปที่ขัดแย้ง สมมุติฐานนี้ย่อมเป็นเท็จ – ห้องสมุดที่มีหนังสือเป็นจำนวนอนันต์ไม่มีทางมีจริง แม้ว่าเราจะสามารถหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งเหล่านี้ได้ในโลกคณิตศาสตร์ ด้วยการสร้างกฎอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้เราลบหรือหารในขณะที่เราใช้จำนวนอนันต์ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่สามารถห้ามผู้คนนำหนังสือออกจากห้องสมุดได้
ดังนั้น เนื่องจากอดีตที่ไม่มีจุดเริ่มต้นย่อมเท่ากับจำนวนอนันต์ของสิ่งต่าง ๆ (หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ) และเนื่องจากจำนวนอนันต์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผลก็คือ เวลาในอดีตไม่ได้เป็นอนันต์ จักรวาลนี้มีจุดเริ่มต้น
ยิ่งกว่านั้น อดีตที่เป็นอนันต์ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจำนวนอนันต์ที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเติมตัวเลขหนึ่งหลัง อีกตัวเลขหนึ่ง มันก็เหมือนการนับให้ได้ถึงอนันต์ – คุณไม่มีวันนับถึงแน่ เราไม่มีวันนับเลขได้ถึงอนันต์ฉันใด เราก็ไม่มีทางนับถอยหลังไปจนถึงติดลบอนันต์ฉันนั้น แต่ถ้าจะมีจักรวาลซึ่งไม่มีจุดเริ่มต้น คุณก็ต้องมีเหตุการณ์ในอดีตเป็นจำนวนอนันต์ที่นำมาถึงปัจจุบัน แต่นั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันกำลังบอกเป็นนัยว่า ปัจจุบันจะไม่มีวันเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีบิ๊กแบง กฎเทอร์โมไดนามิคส์ข้อที่สอง และความเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอดีตซึ่งเป็นอนันต์ ทั้งหมดนี้ล้วนสนับสนุนว่าจักรวาลมีจุดเริ่มต้น
เนื่องจากทุกสิ่งที่มีจุดเริ่มต้นย่อมต้องมีต้นเหตุ ข้อสรุปทางตรรกะที่ตามมาก็คือ จักรวาลนี้มีต้นเหตุ
พระเจ้ามาจากไหน?
ข้อโต้แย้งที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับเหตุผลข้างต้นก็คือ “พระเจ้ามาจากไหน?” แต่คำถามที่ว่า “X มาจากไหน?” จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้บางอย่างที่บอกว่า “X” มีจุดเริ่มต้น ในกรณีนี้ ไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าสิ่งที่เป็นต้นเหตุของบิ๊กแบงมีจุดเริ่มต้น อันที่จริงแล้ว เนื่องจากเวลาไม่ได้มีอยู่ก่อนจะเกิดบิ๊กแบง สิ่งที่เป็นต้นเหตุของบิ๊กแบงย่อมต้องดำรงอยู่โดยปราศจากกาลเวลา ดังนั้นต้นเหตุนั้นย่อมไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีต้นเหตุ เราอาจอยากพูดแบบนี้ในเรื่องจักรวาล แต่ก็พูดไม่ได้ เพราะตามที่เราเห็น หลักฐานต่าง ๆ ชี้ชัดว่าจักรวาลมีจุดเริ่มต้น
เหตุผลที่
2: พระเจ้าคือคำอธิบายที่ดีที่สุดในเรื่องจักรวาลที่หล่อเลี้ยงชีวิต
นักฟิสิกส์ด้านอวกาศได้พบว่าบิ๊กแบงดูเหมือนจะมีความพอเหมาะพอดีอย่างไม่ น่าเชื่อ ค่าตัวเลขของพลังต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่นแรงโน้มถ่วง พลังแม่เหล็กไฟฟ้า แรงภายในอะตอม และประจุอิเล็กตรอน “บังเอิญ” มาอยู่ในกรอบที่แคบมาก ๆ ซึ่งเอื้ออำนวยให้มีสิ่งมีชีวิต ถ้าค่าตัวเลขของพลังเหล่านี้แตกต่างไปจากนี้เพียงเล็กน้อย มันก็จะทำลายโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิต และเป็นไปได้มากว่าอาจถึงขั้นทำลายจักรวาล
สตีเฟน ฮอว์กิง ซึ่งอาจจะเป็นนักฟิสิกส์ร่วมสมัยที่คนรู้จักมากที่สุด เขียนไว้ว่า
“กฎวิทยาศาสตร์ตามที่เรารู้ในปัจจุบันมีตัวเลขพื้นฐานมากมาย เช่นขนาดประจุไฟฟ้าของอิเล็กตรอน และอัตราส่วนระหว่างมวลของโปรตรอนและอิเล็คตรอน… ความจริงที่น่าทึ่งก็คือ ตัวเลขเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกปรับค่าไว้อย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่ชีวิตจะพัฒนาขึ้นมา” (หนังสือ A Brief History of Time, 1988, p. 125)
เซอร์เฟรด ฮอยล์ นักฟิสิกส์ด้านอวกาศ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเขามีความรู้สึกต่อต้านความเชื่อว่ามีพระเจ้า เขาบอกเราว่า
“การตีความข้อเท็จจริงเหล่านี้ตามสามัญสำนึก ทำให้เรารู้สึกว่ามีผู้ทรงปัญญายิ่งใหญ่มาเล่นซนกับฟิสิกส์ รวมไปถึงเคมี และชีววิทยา และไม่มีพลังลึกลับใด ๆ ในธรรมชาติที่สมควรกล่าวถึง ค่าตัวเลขต่าง ๆ ที่คำนวณจากข้อเท็จจริงเหล่านี้ดูน่าทึ่งมากสำหรับผม จนทำให้ข้อสรุปนี้แทบจะไม่มีข้อสงสัย” (วารสาร Engineering and Science, Nov 1981, cited in The World Treasury of Physics, ed. By Timothy Ferris, 1991, p. 392)
ขอให้คุณลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:
1. ถ้าประจุของโปรตอนและอิเล็กตรอนไม่เท่ากันพอดี อะตอมไฮโดรเจนจะผลักกันเอง และจะไม่มีกาแล็กซี่ต่าง ๆ
2. ถ้าแรงสัมพัทธ์ของแรงพื้นฐานสี่อย่าง คือ แรงโน้มถ่วง, แรงแม่เหล็กไฟฟ้า, และแรงนิวเคลียร์แบบเข้มและแบบอ่อน แตกต่างจากนี้เพียงเล็กน้อย ชีวิตจะไม่อาจดำรงอยู่ได้เลย ถ้าแรงนิวเคลียร์แบบเข้ม (แรงที่ยึดโปรตอนและนิวตรอนไว้ในนิวเคลียส) น้อยกว่านี้สองเปอร์เซ็นต์ มันจะทำลายนิวเคลียสทั้งหมดที่จำเป็นต่อการมีชีวิต และถ้ามันมากกว่านี้สองเปอร์เซ็นต์ มันจะทำให้โปรตอนก่อตัวไม่ได้ ดังนั้นก็จะไม่มีสสาร
3. ถ้าอัตราส่วนระหว่างมวลของโปรตรอนกับอิเล็กตรอนซึ่งมีค่าเท่ากับ 1,836 ต่อ 1 เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย ก็จะไม่มีคุณสมบัติทางเคมี
4. ถ้าความสมดุลระหว่างแรงโน้มถ่วงกับพลังแม่เหล็กไฟฟ้าในดาวฤกษ์เปลี่ยนแปลงไป เพียง 1 ส่วน 1,040 มันจะทำให้จักรวาลนี้มีแต่ดาวยักษ์สีฟ้า และดาวแคระสีแดง ซึ่งไม่อาจมีสิ่งมีชีวิต
5. ถ้าว่ากันตามกฎเทอร์โมไดนามิคส์ข้อที่สอง บิ๊กแบงน่าจะก่อให้เกิดจักรวาลที่มีความเป็นระเบียบเท่ากับศูนย์ (ความยุ่งเหยิงสูงสุด) แต่จักรวาลของเรากลับมีระบบระเบียบมาก ๆ (ค่าความยุ่งเหยิงต่ำ)
6. ถ้าอัตราการขยายตัวของจักรวาลช้าลงกว่านี้เพียง 1 ส่วนล้านล้าน จักรวาลก็คงจะล่มสลายไปเร็วมาก ๆ และถ้าอัตราการขยายตัวเร็วขึ้นกว่านี้เพียง 1 ในล้าน กาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ก็จะไม่มีวันก่อตัวขึ้น
7. ถ้าแรงเหวี่ยงจากศูนย์กลางไม่สมดุลพอดิบพอดีกับแรงโน้มถ่วง กาแล็กซี่และระบบสุริยะทั้งหมดจะพุ่งเข้าชนกันเอง
8. ถ้าระดับการกำทอน (พลังงาน) ของนิวเคลียสคาร์บอน 12 ต่ำกว่าที่เป็นอยู่เพียงเล็กน้อย คาร์บอนจะไม่ก่อตัวขึ้น และถ้าระดับพลังงานดังกล่าวสูงกว่าที่เป็นอยู่เพียงเล็กน้อย ก็จะกลับกลายเป็นการทำลายมันทันที คาร์บอน, ออกซิเจน, ไนโตรเจน และธาตุหนักอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตล้วนต้องอาศัยพลังงานนี้
ถ้าบิ๊กแบงเป็นเพียงความบังเอิญที่เกิดขึ้น มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ค่าพลังงานต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จะมีความพอเหมาะพอดี จนทำให้จักรวาลสามารถอยู่รอด และทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ถ้าเราลองป้อนค่าตัวเลขที่มีโอกาสเป็นไปได้มากมายเหลือคณานับ แทนที่ตัวเลขที่เป็นอยู่ของพลังงานเหล่านี้ สิ่งที่จะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ มันจะอยู่นอกกรอบแคบ ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต เหมือนที่จอห์น เลสลี นักปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “จักรวาลที่ไม่ยอมให้มีสิ่งมีชีวิตนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าจักรวาลที่ยอม ให้มีสิ่งมีชีวิตหลายเท่า” นี่คือหลักฐานที่บ่งบอกว่า มีผู้ออกแบบซึ่งทรงปัญญาอยู่เบื้องหลังบิ๊กแบง และกำหนดให้มันเกิดขึ้นในลักษณะที่จักรวาลสามารถเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต
ข้อคัดค้านของผู้สังเกตการณ์
ข้อคัดค้านหลักประการหนึ่งที่คนหยิบยกขึ้นมาก็คือคำกล่าวทำนองนี้ “ไม่เห็นน่าแปลกใจเลยที่เราเห็นว่าสภาพดั้งเดิมของจักรวาลนั้นเอื้ออำนวยให้ มีสิ่งมีชีวิต เพราะเห็น ๆ กันอยู่ว่าสภาพเหล่านี้คือสภาพเดียวที่จะปูทางให้เราดำรงอยู่ได้”
มันจะเป็นแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราสรุปไว้ก่อนแล้วว่า การดำรงอยู่ของเราไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่เหตุผลที่เรายกขึ้นมาอธิบายก็คือ ถ้าเราให้ค่าตัวเลขต่าง ๆ มีความเป็นไปได้ไม่จำกัด คือหมายความว่าพลังงานเหล่านี้อาจมีค่าเท่าใดก็ได้ มันก็จะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เรามีจักรวาลในสภาพอย่างที่เป็น อยู่ คือมีสภาพตั้งต้นที่เหมาะสมและทำให้ตัวผู้สังเกตการณ์เองสามารถดำรงอยู่ได้ แต่ถ้าเราสรุปไว้ก่อนแล้วว่าสภาพที่เป็นอยู่ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ บทสรุปที่ได้ก็คือ ที่มาของมันก็ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ แต่นั่นเท่ากับเรากำลังเบี่ยงเบนประเด็นอย่างเห็นได้ชัด
สรุป
เช่นเดียวกับที่ด้ายสองเส้นพันกันเป็นเชือกที่แข็งแรง ผลรวมของเหตุผลสองประการนี้ก็ทำให้เรามีหลักฐานยืนยันหนักแน่นว่าพระเจ้ามีจริง
เมื่อเรานำเหตุผลสองข้อนี้มาประกอบกัน มันก็บอกเราว่าผู้ที่เป็นต้นเหตุและออกแบบจักรวาลนี้คือผู้ทรงปัญญา ทรงฤทธานุภาพ ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่อยู่ในสภาพวัตถุ อีกทั้งยังดำรงอยู่ในสภาพนิรันดร์ซึ่งไม่มีกาลเวลา นอกเหนือจุดเริ่มต้นของจักรวาล ผมเห็นว่าเรื่องนี้ใกล้เคียงมากกับแนวคิดดั้งเดิมที่ศาสนายิว-คริสเตียน กล่าวถึงพระเจ้า จนเราสามารถสรุปได้อย่างมีเหตุผลว่าพระเจ้ามีจริง
ต่อไป: คำถามอื่น ๆ เกี่ยวกับชีวิต
ค้นพบวิธีที่คุณจะสัมผัสพลังเปลี่ยนชีวิต